Blog

NAT HAD AN INTERVIEW WITH A DAY MAGAZINE

NAT HAD AN INTERVIEW WITH A DAY MAGAZINE

Nat Yoswatananont had an interview with a day magazine about our creative working atmosphere and a sneak peak into our new project.

Igloo Studio : สตูดิโอผู้สร้างสรรค์ ๙ ศาสตรา ที่เชื่อในการพัฒนาไอเดียโดยทีมงานทุกคน

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา วงการแอนิเมชั่นไทยเป็นเหมือนกราฟในตลาดหุ้นช่วงเศรษฐกิจผันผวน มีทั้งช่วงขึ้นสูงและลงต่ำ มีช่วงเฟื่องฟูบ้างแต่สุดท้ายก็กลับมาซบเซาให้คนหงอยอยู่หลายๆ ครั้ง ทำให้ผู้สร้างหลายคนเริ่มขาดศรัทธาและเมินหน้าหนีจากวงการนี้ จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Igloo Studio ร่วมกับค่าย Exformat Films ได้ปล่อยผลงานแอนิเมชั่น ๙ ศาสตรา ออกมาลงโรง จนสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย

๙ ศาสตรา ไม่ใช่แอนิเมชั่นที่เด่นเรื่องการทำเงิน แต่เด่นเรื่องการถูกพูดถึง ผู้คนในโซเชียลมีเดียต่างชื่นชอบงานด้านภาพและการเล่าเรื่องที่ดีกว่าที่คาด แม้ผู้สร้างจะนำศิลปะมวยไทยมาเล่าเรื่องซึ่งไม่ใหม่ แต่วิธีการนำเสนอมีเสน่ห์ ทำให้เราอยากรู้จักตัวตนของ Igloo Studio ให้มากขึ้น โดยมี ณัฐ ยศวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้ง Igloo Studio มาช่วยเล่าเรื่องราวของบ้านหลังนี้ให้เราฟัง

ย้อนไปปี 2007 หลังจากที่ณัฐเริ่มอิ่มตัวกับงานสถาปนิกที่ต้องคอยออกแบบให้โดนใจคนอื่น เขาเลยคิดอยากมีผลงานที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาและสามารถถ่ายทอดตัวตนของเขาออกมาได้

 

NAT HAD AN INTERVIEW WITH A DAY MAGAZINE 1

ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสักหน่อย เราจะเห็นเด็กชายณัฐนอนอ่านการ์ตูนไซบอร์กเพชรฆาต ไม่ก็นั่งเล่นเกมอย่างดุเดือดอยู่ในบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้ณัฐทำงานศิลปะต่างๆ ที่แสดงถึงตัวตนของเขาในนามของ Igloo Studio ทั้งแอนิเมชั่น มังงะ หรือแม้แต่เกม ทั้งหมดเกิดจากความต้องการของผู้ผลิตล้วนๆ ที่อยากจะเห็นตัวละครของตนเองโลดแล่นอยู่ในทุกช่องทาง การแปลงสิ่งที่เรารักมาเป็นงานประจำนั้น ณัฐบอกเราว่าความสุขที่ได้รับมีมากกว่าเม็ดเงินซะอีก

“เวลาชอบอะไรเราอยากตามดูให้หมด มันมีเสน่ห์ที่ต่างกัน เราเลยเอาความชอบนี้มาใส่ในงาน อะไรที่อยากดูอยากเห็น ก็ทำเลย เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นคนสร้าง CG แอนิเมชั่น เราเป็นคนดูมากกว่า แล้วเราค่อยสร้างสิ่งที่เราอยากดูขึ้นมา”

งานชิ้นแรกที่บ้านอิกลูหลังนี้ให้กำเนิดขึ้นมา คือ The Salad ตัวละครที่เป็นดอกทานตะวัน ผัก และผลไม้หลากชนิดน่ารักใสๆ เดิมที ณัฐตั้งใจจะให้งานนี้เป็นแค่ตัวการ์ตูนที่ไปอยู่ในของใช้จุกจิก เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่คนจะมาซื้อไปใช้ได้ แต่เมื่อลองทำงานเป็นภาพนิ่งก็ได้คำแนะนำจาก Dream Express (DEX) บริษัทนำเข้าการ์ตูนจากญี่ปุ่นมาขายในไทยว่าน่าจะได้เห็นตัวละครนี้ทำท่าทางต่างๆ ให้แต่ละตัวได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีลักษณะเฉพาะที่จะทำให้คนดูเข้าถึงและหลงรักได้ไม่ยาก การ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นการเล่าเรื่องที่คนดูย่อยได้ง่ายที่สุด จึงพัฒนา The Salad เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกของ Igloo Studio ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด DigiCon6 Thailand ในปี 2008 จนเป็นที่รู้จักและสร้างรายได้ส่วนหนึ่งให้กับ Igloo Studio ต่อมาบริษัทก็สร้างและพัฒนาแอนิเมชั่นที่มีเนื้อหาด้านอื่นๆ เช่น ๙ ศาสตรา ที่ปลดปล่อยความเป็นณัฐออกมาได้เต็มๆ

“เนื่องจากเราเป็นนักออกแบบมาก่อน การทำงานก็จะต่างกับคนทำแอนิเมชั่นคนอื่นๆ เราจะเอาคอนเซปต์ไปจับ ต้องมีแนวคิดและที่มาของโปรเจกต์เยอะกว่า แต่ละงานก็มีโจทย์ที่ต่างกันไป เหมือนเราออกแบบโรงแรมและบ้าน ก็ต้องดูว่าเจ้าของบ้านใช้ชีวิตยังไง เขาต้องได้บ้านที่เป็นแบบเขา พอหลังจาก The Salad ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเราทำเป็นแต่การ์ตูนน่ารัก แต่ตัวตนของเราจริงๆ จะชอบการ์ตูนแอคชั่น อย่าง ๙ ศาสตรา นี่ตัวเราเลย” ณัฐเล่าถึงรูปแบบการทำงานของแอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ชิ้นนี้ ถือเป็นภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของ Igloo Studio และได้ไปฉายในโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของณัฐ ทีมงานใช้เวลาหมกตัวค้นข้อมูลและสร้างนานถึง 5 ปี เป็นหนังแอนิเมชั่นแอคชั่นผจญภัยแบบไทยๆ ที่คนไทยไม่เคยเห็น

นอกจากผลงานที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของสตูดิโอที่สร้างขึ้น Igloo Studio ก็ทำงานบริการให้หลายที่ รับออกแบบตัวละครเพื่อการโฆษณาของหลายๆ บริษัท เช่น เด็กผู้ชายหัวหยิกในขวดน้ำเต้าหู้ Tofusan น้ำส้มโมกุโมกุ รวมถึงแอนิเมชั่นสั้นๆ ให้ร้านจักรยาน Life Cycling ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่คอยช่วยอุ้มบริษัทให้สามารถผลิตผลงานอื่นๆ ณัฐถือว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่ลูกทีมในบ้านหลังนี้จะได้ฝึกพัฒนาฝีมือและเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ

หลังจากณัฐตัดสินใจเดินตามเส้นทางแห่งความฝันและสร้างบ้าน Igloo Studio ขึ้นมาแล้ว สมาชิกทีมงานในบ้านก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านหลังเล็กๆ หลังนี้เติบโตขึ้น

NAT HAD AN INTERVIEW WITH A DAY MAGAZINE 2

“ในฐานะที่เราเป็นผู้นำสูงสุดของบริษัท ก็ต้องกำหนดทิศทางเดินของเรือลำนี้ แล้วเรือลำนี้มันแบกความฝันของทุกคน ความฝันของทุกคนก็กลายเป็นความฝันของเราไปแล้ว เราต้องพาทุกคนไปให้ถึงจุดหมาย” น้ำเสียงมุ่งมั่นที่ณัฐพูดทำให้เราอดปลื้มแทนลูกทีมของเขาไม่ได้

ในทางกลับกัน บ้านหลังนี้ยังทำให้สมาชิกในบ้านไม่หยุดที่จะอัพเกรดตัวเองเป็นเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น Igloo Studio จะพยายามผลักดันให้สมาชิกแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่ตัวเองเป็น มีการจัดประกวดไอเดียภายในบริษัทเพื่อเฟ้นหาเนื้อหาใหม่ๆ คนที่ชนะก็ได้รางวัลไป แล้วยิ่งถ้าได้นำไอเดียมาสร้างจริง ก็จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของไอเดียเพราะถือว่าช่วยสนับสนุนคนที่มีความคิดเจ๋งๆ

บริษัทเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์มาก กิจกรรมหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดไอเดียต่างๆ คือชั่วโมงการเรียนรู้ที่จัดขึ้นสัปดาห์ละ 2 วัน โดยให้เหล่าพนักงานออกมาสอนอะไรก็ได้ที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เช่น การสอนย้อมผ้าบาติก สอนการปั้น หรือแม้แต่ศิลปะการต่อสู้สองมือของรัสเซีย หลายคนอาจคิดว่าความรู้พวกนี้ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการทำแอนิเมชั่นตรงไหน แต่สิ่งพวกนี้ล้วนทำให้สมาชิกในบ้านได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

“เรายังมีห้องเรียนเสริมสร้างความเป็นผู้นำ โดยจะให้หัวหน้าทีมผลัดกันขึ้นมาสอน เพราะเชื่อว่าการสอนคนจะช่วยให้เราได้เรียงลำดับความคิดใหม่ ได้ทบทวนตัวเอง และสิ่งที่จะสื่อสารกับคนอื่น มันช่วยสร้างตัวเราเองและทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น”

ณัฐบอกว่าถึงแม้แต่ละงานของ Igloo Stuido จะมีเอกลักษณ์ต่างกัน เช่น ผลงานชิ้นแรก The Salad ดูน่ารักกุ๊กกิ๊กแตกต่างจาก ๙ ศาสตรา แอนิเมชั่นแอคชั่นผจญภัย แต่สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันคืออาร์ตไดเรกชั่นที่ดูแล้วไม่เหมือนกับสตูดิโออื่นๆ เป็นงานที่ทำให้คนดูตื่นตะลึงจนเอาไปบอกต่อ

อีกสิ่งที่ Igloo Studio พยายามซ่อนเข้าไปในทุกงานคือเอกลักษณ์และกลิ่นอายความเป็นไทย ที่จะมีน้อยมีมากแตกต่างกันโดยไม่ยัดเยียดให้หนักเกินไปและต้องเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าผู้ชมจะเป็นคนชาติใดก็ตาม อย่าง ๙ ศาสตรา ที่มีความเป็นไทยสูงมาก แต่ด้วยเนื้อเรื่อง ลำดับการเล่าเรื่อง และลักษณะบางอย่างของตัวละคร ที่บอกได้ว่าฝ่ายไหนดีหรือไม่ดี ก็ทำให้ทุกคนอินไปกับหนังได้

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ใกล้จะคลอดออกมาคือ Black Dust (ซึ่งเป็นผลงานจากการแข่งขันประกวดภายในบริษัท) หรือชื่อสวยหรูแบบไทยๆ ว่า ราหู ก็เป็นผลงานแอนิเมชั่นไซไฟแบบไทยๆ ที่ผสมความเชื่อของพราหมณ์ฮินดู แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีตัวละครที่เป็นสากลอย่างจักรกลร่างยักษ์และหุ่นไซบอร์กมวยไทย แฝงความตลกเข้าไป เช่น ตัวกิ้งก่าห้อยพระเครื่องที่พูดภาษาอีสานได้

สุดท้ายก่อนที่ไอเดียคูลๆ จะกลายเป็น magical moment ให้ทุกคนดู ก็ต้องผ่านขั้นตอนการปั้นงาน ใส่ทั้งความละเมียดละไมและความใส่ใจลงไปในงาน เกิดเป็นงานคราฟต์ที่ทั้งสร้างสรรค์และเท่อยู่ด้วยกัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของ Igloo Studio ที่ต้องการให้คนดูได้รู้สึกเพลิดเพลินกับช่วงเวลาแห่งเวทย์มนตร์ หนีจากความเป็นจริงแล้วถูกดูดเข้าไปอยู่ในโลกที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีวัฒนธรรมใหม่ๆ สถานที่สวยๆ เนื้อเรื่องและตัวละครต้องเป็นเหตุเป็นผล มีความเชื่อมโยงและความเติบโตที่เห็นได้ชัดของแต่ละตัวละคร ซึ่ง ๙ ศาสตรา และ Black Dust ถือเป็นผลงานที่ตรงความต้องการของณัฐและทีมมากที่สุด

นอกจาก Igloo Studio จะพัฒนาลูกทีมให้เจ๋งขึ้นผ่านวิธีการต่างๆ ระหว่างการทำงานแล้ว บ้านหลังนี้ยังพยายามช่วยพัฒนาสังคมไทยของเราเช่นกัน

“พอถึงจุดนึงเราต้องทำสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง ต้องเป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เราได้โอกาสมาแล้วก็ต้องส่งต่อให้คนอื่น แผนในอนาคตที่คาดว่าจะมีคือเปิดสอนแอนิเมชั่นฟรีโดยหัวหน้าทีมเรา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่อยากก้าวเข้าสู่วงการแอนิเมชั่น และเปิดโอกาสให้วงการแอนิเมชั่นไทยด้วย เด็กบางคนอาจกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในวงการนี้ แล้ววงการแอนิเมชั่นของประเทศเราอาจกลายเป็นจุดสำคัญในภูมิภาคนี้เลยก็ได้”

NAT HAD AN INTERVIEW WITH A DAY MAGAZINE 3

ก่อนบทสนทนาจะจบลง เราเอ่ยถามณัฐว่าคิดเห็นยังไงในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เลิกคาดหวังกับแอนิเมชั่นไทยแล้ว คำตอบของณัฐย้ำว่าเขายังมีความศรัทธาและความมุ่งมั่นในวงการนี้ที่สูงติดเพดาน

“มันคงไม่ผิดถ้าคนอื่นไม่เชื่อ เพราะเขาไม่เคยเห็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาก่อน สิ่งที่เราพยายามทำคือการสร้างความเชื่อให้คนไทยโดยการผลิตงานที่มีคุณภาพ สร้างศรัทธาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราเชื่อว่า ๙ ศาสตรา ก็ค่อนข้างจะพิสูจน์เรื่องการ์ตูนแอคชั่นในระดับหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสังคมและความเชื่อนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด สิ่งที่เราต้องทำต่อคือการยกระดับความคิดสร้างสรรค์และรู้จักเคารพลิขสิทธิ์ทางปัญญา เพราะเราถือว่าสิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน”

บ้าน Igloo Studio หลังนี้จะมีอะไรให้เราได้ตื่นเต้นอีกคงต้องติดตามกันต่อไป แอนิเมชั่นไทยจะเดินไปทิศทางไหน จะวิ่งทันนานาชาติได้หรือเปล่า ยังเป็นสิ่งที่แม้แต่คนในวงการเองก็ไม่รู้แน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือในขณะที่หลายๆ คนหมดศรัทธากับวงการนี้ ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะช่วยให้แอนิเมชั่นไทยก้าวกระโดดต่อไปจนทัดเทียมชาติอื่นๆ ได้

“เราอยากให้งานเราประสบความสำเร็จ เพราะมันจะเปิดทางให้คนอื่น ทำให้ต่างประเทศหันกลับมามองเราและจะเกิดโอกาสขึ้นเยอะมากในประเทศไทย เราอาจจะเคยส่งออกข้าว ตอนนี้เราอยากส่งออกแอนิเมชั่นขายทั่วโลกแทน” ณัฐย้ำถึงความมุ่งมั่นอีกครั้งก่อนที่จะจากกัน

ที่มา: 2 กุมภาพันธ์ 2561 http://www.adaymagazine.com/interviews/founder-nat-igloo-studio

Leave a Reply